ทรัพยากรดิน

จากกองแผนการสำรวจที่ดิน จังหวัดนครนายก ของกองสำรวจดิน กรมพัฒนาที่ดิน พ . ศ . 2522 ได้จำแนกดินภายในจังหวัดนครนายก ไว้ทั้งหมด 28 ชุดดินและจากการศึกษาข้อมูลของชุดดินเหล่านี้

พอจะวิเคราะห์ลักษณะ และ คุณสมบัติของทรัพยากรดินนครนายกเป็น 5 กลุ่มคือ

 

  • ดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำใหม่ ( Recent alluvium ) บริเวณนี้เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง (Flood plain)

ปรากฏให้เห็นตามสันดินริมน้ำ และบริเวณแอ่งริมน้ำของแม่น้ำนครนายก และคลองบ้านนา ดินที่เกิดบนสันดินริมน้ำ มีเนื้อดินเป็นดินร่วนหรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง เป็นดินลึก มีการระบายน้ำดี ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ดินที่เกิดบริเวณแอ่งริมน้ำ มีเนื้อดินเป็นดินเหนียว เป็นดินลึก มีการระบายน้ำเลว ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำใหม่มีเนื้อที่ประมาณ 32,360 ไร่ หรือปริมาณร้อยละ 2.44 ของพื้นที่จังหวัด

 

  • ดินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำกร่อย ( Brackish water depositse ) ในบริเวณที่ราบ

น้ำท่วมถึงในอดีต ( Former tidal flat ) ปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวางในที่ลุ่มต่ำตอนใต้ของจังหวัด บริเวณอำเภอองครักษ์ ตอนใต้ของอำเภอเมืองฯ และปากพลี เนื้อดินเป็นดินเหนียว เป็นดินลึก มีการระบายน้ำเลว ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปฏิกิริยาของดินเป็นกรดจัด ( ดินเปรี้ยว ) บริเวณนี้มีพื้นที่ประมาณ 604,171 ไร่ หรือ 45.55 เปอร์เซนต์ ของพื้นที่จังหวัด

 

  • ดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำค่อนข้างใหม่และตะกอนลำน้ำเก่า ( Semi – recent alluvium )

พบเป็นแนวกว้างทางตอนกลางของจังหวัดขึ้นไปจรดเทือกเขาทางตอนเหนือ สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มๆดอนๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลานตะพักระดับต่ำ เนื้อดินบนเป็นดินทรายหรือทรายแป้ง ดินล่างเป็นดินเหนียว เป็นดินลึก มีการระบายน้ำเลว ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีพื้นที่ปริมาณ 260,607 ไร่ หรือ 19.65 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่จังหวัด สำหรับดินบนลานตะพักระดับสูงขึ้นไป เนื้อดินบนส่วนใหญ่เป็นดินร่วนเหนียวปนทราย ดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายถึงดินเหนียวปนทรายแป้ง มีการระบายน้ำดี ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีพื้นที่ประมาณ 9,814 ไร่ หรือ 0.74 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่จังหวัด

 

  • ดินที่เกิดจากการสลายตัวผุพังของวัตถุต้นกำเนิดที่สลายตัวอยู่กับที่ และวัตถุต้นกำเนิดที่เคลื่อนที่

มาทับถมตามแรงโน้มถ่วงของโลก ( Residuum and colluvium ) บนลานตะพักที่ง่ายต่อการกัดกร่อน และบริเวณเชิงเขา ( Erosion terrace and foot hills ) พบกระจายอยู่เป็นแห่ง ๆ และในบริเวณเชิงเขาตอนเหนือของจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นดินค่อนข้างตื้น มีเศษหิน ก้อนกรวด หรือลูกรังปะปนอยู่ มีการระบายน้ำดี ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง มีพื้นที่ประมาณ 14,987 ไร่ หรือ 1.13 เปอร์เซนต์ของพื้นที่จังหวัด

 

      . ดินที่เกิดจากภูเขา ปกคลุมด้วยหินในยุคต่าง ๆ พบอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัด มีพื้นที่ประมาณ 401,123 ไร่ หรือ 30.24 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่จังหวัด